มากกว่ารัก

slide



วันพฤหัสบดีที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

เนรมิตกระจกสีสู่เครื่องประดับด้วยนาโนเทค

เนรมิตกระจกสีสู่เครื่องประดับด้วยนาโนเทค
นักวิจัยพบเทคนิคตกแต่งกระจกสี-แก้วให้เป็นอัญมณี โดยอาศัยคุณสมบัติเด่นของอนุภาคทองคำนาโน ที่สีสันแตกต่างไปจากทองคำปกติ
 กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สำนักบริหารกลาง สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ร่วมกับ ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ  จัดกิจกรรม   “คุยกัน..ฉันท์วิทย์ สัญจร”  ในหัวข้อ อนุภาคนาโน !!..เนรมิตกระจกสีสู่เครื่องประดับล้ำค่า”  ณ จัตุรัสวิทยาศาสตร์ ชั้น 4 อาคารจัตุรัสจามจุรี (จามจุรีสแควร์) สามย่าน กรุงเทพมหานคร 
 โดยมีนายสันติ        สาทิพย์พงษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และโฆษกกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานพิธีเปิด พร้อมวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ดร.ณัฐพันธุ์ ศุภกา  หัวหน้าห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ทดสอบและบริการ หน่วยปฏิบัติการวิจัยกลาง ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สวทช. มาให้ความรู้ และชมมินิคอนเสิร์ตจากศิลปินค่ายอคาเดมี่แฟนตาเซีย พี่กรีน AF5
         นายสันติ สาทิพย์พงษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และโฆษกกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ปัจจุบันความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี   ถือเป็นสาขาวิชาความรู้ และเป็นศาสตร์ที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของผู้คนเป็นอย่างมาก  วิทยาศาสตร์จึงเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับทุกคนตั้งแต่ลืมตาตื่นนอนจนกระทั่งเข้านอน  และวิทยาศาสตร์ยังส่งผลต่อวิถีชีวิตของเราตั้งแต่เกิดจนวาระสุดท้ายของชีวิต 
 ดังนั้น การแสวงหาความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์จึงเป็นสิ่งจำเป็น  โดยเฉพาะการสร้างพื้นฐานความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์ให้เกิดขึ้นแก่เด็กและเยาวชน  เพื่อเป็นการปลูกฝังให้พวกเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่  มีหลักคิดที่เป็นเหตุเป็นผล และมีความสนใจใคร่รู้ที่จะเสาะแสวงหาความจริงรวมถึงเรียนรู้และทดลองเพื่อคลายความสงสัยด้วยตนเอง
   “การผลักดันและสร้างเสริมความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปสู่เด็กและเยาวชนให้ได้มากที่สุด ถือเป็นนโยบายที่มีความสำคัญนับตั้งแต่วาระแรกในการดำรงตำแหน่งของ          ดร.วีระชัย วีระเมธีกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งต้องการส่งเสริมการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้เกิดขึ้นแก่เด็กและเยาวชนมากที่สุด
 ดังนั้น จึงได้มีดำริในการจัดทำโครงการต่างๆ ให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ซึ่งโครงการ คุยกัน..ฉันท์วิทย์  เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมที่มีส่วนช่วยให้เยาวชนของชาติเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่มีหลักคิดที่เป็นเหตุเป็นผลในอนาคต
 สำหรับการจัดกิจกรรม คุยกัน..ฉันท์วิทย์ สัญจร ในวันนี้ มีความพิเศษตรงที่ผู้เข้าร่วมงานรวมถึงเด็กและเยาวชน จะได้มีโอกาสทดลองประดิษฐ์เครื่องประดับจากกระจกสีนาโนด้วยตนเอง       พร้อมได้รับความรู้และคำแนะนำจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญโดยตรงอย่างใกล้ชิด ซึ่งถือเป็นโอกาสและ     เป็นประสบการณ์ครั้งสำคัญที่หาไม่ได้ง่ายนัก รวมถึงยังได้รับความรู้เกี่ยวกับวิธีการสังเคราะห์อนุภาคเงินและทองที่มีขนาดเล็กระดับนาโนเมตร  การศึกษาคุณสมบัติเชิงแสงที่เปลี่ยนแปลงไปของเงินและทองที่มีขนาดเล็กในระดับนาโนเมตร  พร้อมทั้งได้ศึกษาวิธีการผลิตกระจกสีและเครื่องประดับในสมัยโบราณ  
 นอกจากจะได้ความรู้และประสบการณ์ให้กับตนเองแล้ว ยังสามารถนำความรู้ที่ได้ไปประกอบอาชีพและสร้างรายได้เสริมได้อีกทางหนึ่งด้วย ถือว่าเหมาะเป็นอย่างยิ่งสำหรับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันที่หลายคนหันมาสนใจการประกอบอาชีพเสริมมากขึ้น เพื่อช่วยเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัวอีกทางหนึ่งด้วย
 ขณะที่ ดร. ณัฐพันธุ์ ศุภกา หัวหน้าห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ทดสอบและบริการ หน่วยวิจัยกลาง ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ  สวทช. กล่าวในการเสวนาคุยกัน..ฉันท์วิทย์ สัญจรหัวข้อ อนุภาคนาโน !!..เนรมิตกระจกสีสู่เครื่องประดับล้ำค่าว่า นาโนเทคโนโลยี เป็นสหสาขาวิชาใหม่ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการ การสร้าง การสังเคราะห์วัสดุหรืออุปกรณ์ในระดับของอะตอม โมเลกุลหรือชิ้นส่วนที่มีขนาดเล็กในช่วง 1 ถึง 100 นาโนเมตร
 ซึ่งวัสดุต่างๆ ที่มีขนาดเล็กระดับนาโนเมตรจะมีคุณสมบัติที่แตกต่างจากวัสดุที่มีขนาดใหญ่ เช่น มีความแข็งแรงทนทานมากขึ้น สามารถทำปฏิกิริยาเคมีได้ว่องไวขึ้น หรือมีสมบัติการนำไฟฟ้าและสมบัติเชิงแสงเปลี่ยนแปลงไปวัสดุขนาดใหญ่ เป็นต้น
 คุณสมบัติเหล่านี้สามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์และเพิ่มคุณค่าทางเศรษฐกิจได้ ยกตัวอย่างเช่น ทองนาโน หรือเงินนาโน ซึ่งก็คือทองหรือเงินธรรมดาแต่มีขนาดเล็กระดับนาโนเมตร ซึ่งจะมีคุณสมบัติพิเศษที่เปลี่ยนแปลงไปจากทองหรือเงินธรรมดา โดยอนุภาคเงินนาโนจะมีสีเหลืองเมื่อแขวนลอยอยู่ในน้ำ ในขณะที่อนุภาคทองนาโนจะมีสีแดงหรือม่วงเมื่อแขวนลอยอยู่ในน้ำ 
 จุดเด่นของอนุภาคทองนาโน มีสมบัติเชิงเคมีและกายภาพที่แตกต่างไปจากทองคำปกติทองคำขนาดใหญ่ที่เราคุ้นเคย  เช่น ทองคำปกติจะไม่ทำปฏิกิริยาเคมีในขณะที่อนุภาคทองคำนาโนสามารถเร่งปฏิกิริยาเคมีต่างๆ ได้อย่างว่องไว  หรือการที่ทองคำปกติจะมีสีเหลืองทองในขณะที่อนุภาคทองคำนาโนจะมีสีแดงเข้มหรือสีม่วง  เป็นต้น 
 ส่วนอนุภาคเงินนาโน มีคุณสมบัติเชิงเคมีและกายภาพที่แตกต่างไปจากโลหะเงินที่เราคุ้นเคย  เช่น โลหะเงินปกติจะสีเงินแวววาวในขณะที่อนุภาคเงินนาโนจะมีสีเหลืองหรือสีน้ำตาล  และอนุภาคเงินนาโนจะมีคุณสมบัติในการยับยั้งเชื้อโรคต่างๆ เช่น เชื้อแบคทีเรีย    ได้ดีกว่าโลหะเงินปกติ เป็นต้น
 ดังนั้น อนุภาคทองคำนาโนจึงสามารถนำไปประยุกต์ใช้ประโยชน์ได้มากมาย เช่น ใช้อนุภาคทองคำนาโนเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาเคมีในกระบวนการผลิตสารเคมีและวัสดุในเชิงพาณิชย์    ใช้อนุภาคทองคำนาโนเป็นส่วนประกอบของอุปกรณ์ตรวจจับเชื้อโรคหรือสารเคมีที่ต้องการตรวจสอบ    โดยดูจากการเปลี่ยนสีของอนุภาคทองนาโน 
         ดร.ณัฐพันธุ์ กล่าวต่อว่า การที่อนุภาคทองคำนาโนมีสีสันที่แตกต่างไปจากทองคำปกติ     ทำให้สามารถนำอนุภาคทองคำนาโนไปใช้ตกแต่งเป็นเครื่องประดับได้อย่างมากมาย เช่น กระจกสี แก้ว   สีเคลือบและสีย้อมสีแดง เป็นต้น ขณะที่อนุภาคเงินนาโนไปประยุกต์ใช้ประโยชน์ได้อย่างมากมาย เช่น   ใช้อนุภาคเงินนาโนเติมลงผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อให้มีสมบัติยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย  เช่น เสื้อผ้า สิ่งทอ เฟอร์นิเจอร์ สีและสารเคลือบ กระเบื้อง บรรจุภัณฑ์  ผงซักฟอก เครื่องใช้ไฟฟ้า ฯลฯ
 และการที่อนุภาคเงินนาโนมีสีสันที่แตกต่างไปจากโลหะเงินปกติทำให้สามารถนำอนุภาคเงินนาโนไปใช้ตกแต่งเป็นสารให้สีได้อย่างมากมาย  เช่น เครื่องประดับ  กระจกสี  แก้ว เป็นต้น ในปัจจุบันจึงมีการใช้อนุภาคเงินนาโน และอนุภาคทองนาโน เป็นส่วนผสมของเครื่องประดับหลายชนิด เช่น กระจกสี  ถ้วยชาม เครื่องปั้นดินเผา   แก้วสี  สร้อยคอ  แหวน ต่างหู กำไลข้อมือ กรอบรูป เป็นต้น
 “ผลิตภัณฑ์ที่ใช้นาโนเทคโนโลยีจะมีคุณสมบัติที่แตกต่างจากผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้ใช้นาโนเทคโนโลยี  โดยคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ที่ใช้นาโนเทคโนโลยีจะขึ้นอยู่กับชนิดของอนุภาคนาโน   ที่เติมหรือผสมลงในผลิตภัณฑ์แต่ละชนิด เช่น ถ้าเติมอนุภาคเงินนาโนลงไปจะทำให้ผลิตภัณฑ์มีคุณสมบัติป้องกันเชื้อโรคได้ หรือผลิตภัณฑ์ที่มีการผสมอนุภาคทองนาโนลงไปจะทำให้ผลิตภัณฑ์มีคุณสมบัติในการเกิดปฏิกิริยาเคมีดีกว่าผลิตภัณฑ์ปกติ
 อย่างไรก็ดี นาโนเทคโนโลยีเป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่สำหรับคนทั่วไปรวมทั้งภาคอุตสาหกรรม  แต่กระแสตอบรับของประชาชนทั่วไปก็มีมุมมองเกี่ยวกับนาโนเทคโนโลยี         ในเชิงบวก และนิยมเลือกใช้ผลิตภัณฑ์นาโนเทคโนโลยีที่มีคุณสมบัติที่พิเศษหรือแตกต่างไปจากผลิตภัณฑ์ปกติ โดยผลิตภัณฑ์นาโนเทคโนโลยีส่วนมากจะอยู่ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ประเภท สิ่งทอ สีทาบ้าน สุขภัณฑ์ และเครื่องสำอาง เป็นต้น
 นาโนเทคโนโลยียังสามารถประยุกต์ใช้ประโยชน์ในวงการต่างๆ ได้อย่างมากมาย เช่น อุตสาหกรรมอาหาร การเกษตร การแพทย์ สาธารณสุข เครื่องสำอาง วงการอิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์สิ่งทอ สีทาบ้าน และสุขภัณฑ์ อีกด้วย
 อย่างไรก็ตาม เนื่องจากผลิตภัณฑ์นาโนเทคโนโลยียังเป็นเรื่องใหม่สำหรับผู้บริโภค  ทำให้มีข้อจำกัดในเรื่องของการทำความเข้าใจและให้ความรู้ที่ถูกต้องตามหลักวิชาการกับผู้บริโภคในการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์นาโนเทคโนโลยี และยังมีข้อจำกัดในเรื่องของโฆษณาผลิตภัณฑ์นาโนเทคโนโลยีที่ผู้ผลิตหรือผู้ขายมักจะอวดอ้างสรรพคุณของผลิตภัณฑ์นาโนเทคโนโลยีเกินความเป็นจริง จึงอยากให้ผู้บริโภคพิจารณาหาข้อมูลความรู้เรื่องนาโนเทคโนโลยีเพื่อให้สามารถใช้งานผลิตภัณฑ์นาโนเทคโนโลยีได้อย่างรู้เท่าทัน และไม่ตกเป็นเหยื่อของผู้ขายที่อาจใช้นาโนเทคโนโลยีมาเป็นช่องทางในการหลอกลวงหรือค้ากำไรเกินควรได้ ดร.ณัฐพันธุ์ กล่าวทิ้งท้าย
(ติดตามข่าวสาร  การจัดกิจกรรม คุยกัน..ฉันท์วิทย์  ของกลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ที่  www.most.go.th/scitalk)

* กมลวรรณ  เอมสมบูรณ์  กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวง  กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  Call Center : 1313

1 ความคิดเห็น:

  1. สล็อต เว็บไซต์สล็อต สล็อตออนไลน์ ยอดนิยมแล้วก็เป็นที่ชอบใจเป็นอย่างมากสำหรับผู้เล่นเกมสล็อตออนไลน์ในช่วงเวลานี้ PG SLOT นับว่าเป็นที่น่าดึงดูดช่วยทำเกมให้กับผู้เล่น24ชม.

    ตอบลบ